นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ประชาธิปไตยนิยาม

(ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 26 ก.ค.-1 ส.ค.2556)

นิยามประชาธิปไตยที่แพร่หลายที่สุดในประเทศไทย คงจะเป็นของประธานาธิบดีลิงคอล์นที่ว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

แต่ที่จริงแล้ว นี่เป็นนิยามที่หละหลวมจนหาความหมายอะไรไม่ได้เอาเลย กระทั่งแค่เอากระดิ่งไปแขวนปากประตูไว้ใบเดียว หรือสั่งลูกน้องว่า หากกูชักดาบมึงต้องห้ามกูนะเฟ้ย ก็กลายเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว

ความคลุมเครือไม่ชัดเจนว่าประชาธิปไตยคืออะไรนี้ ทำให้เผด็จการทั่วโลก โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พากันอ้างระบอบอำนาจนิยมของตนว่าเป็นประชาธิปไตยกันหมด อย่างน้อยก็โดย "จิตวิญญาณ"

ในเมืองไทย แม้แต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยังอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยยิ่งเสียกว่าประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ในสมัยหลัง หรือรัฐประหารโดยกองทัพก็อ้างว่าเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือปกป้องประชาธิปไตย

แล้วจะเหลือระบอบปกครองอะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่อีกเล่าครับ

แนวทางนิยามประชาธิปไตยในฐานะระบอบปกครองนั้นอาจแบ่งออกได้เป็นสามแนวทาง หนึ่งคือที่มาของอำนาจอาญาสิทธิ์ในรัฐนั้นๆ สองคือจุดมุ่งหมายของการปกครอง และสามคือกระบวนการในการจัดตั้งอำนาจรัฐ(บาล)

ทั้งสามแนวทางนี้มีอะไรเกี่ยวข้องกันอยู่บ้าง แต่ถ้าเราต้องการแยกระบอบปกครองประชาธิปไตยออกจากระบอบปกครองอื่นอย่างชัดเจน ก็ต้องมองหาเงื่อนไขอะไรที่ระบอบปกครองอื่นไม่สามารถมีได้ นั้นคือแนวทางที่สาม ได้แก่กระบวนการในการจัดตั้งอำนาจรัฐ(บาล)

กระบวนการดังกล่าวนั้นประกอบด้วยการกระทำหลายอย่าง (ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า) แต่ในบรรดาการกระทำหลายอย่างนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการเลือกตั้ง (ที่เสรีและเป็นผลโดยตรงต่อการจัดตั้งอำนาจรัฐ) แม้ว่าการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในระบอบปกครองประชาธิปไตย

อ่านต่อทั้งหมด